กลุ่มคนรุ่นใหม่ในออสเตรเลียจัดโครงการรณรงค์ออนไลน์ให้ผู้คนเลิกก้มหน้าดูโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า “ฟับบิ้ง”

ถึงแม้ว่าสมาร์ตโฟนและโซเชียลเน็ตเวิร์กจะทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ที่โคจรมาพบกัน ทว่า หลายครั้งอาการติดโทรศัพท์ ชอบแชต หรือนิสัยที่ต้องอัพเดตสเตตัสเฟซบุ๊กตลอดเวลา ก็ล้วนสร้างความรำคาญน่าเบื่อหน่ายให้กับคนรอบข้าง เราเรียกอาการที่คนให้ความสนใจกับโทรศัพท์มือถือมากกว่าคนรอบข้างหรือ สถานการณ์แวดล้อมอื่นๆ ว่า ฟับบิ้ง (Phubbing)

จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีอายุตั้งแต่ 12-45 ปี โดยเวเบอร์ แชนด์วิค ประเทศไทย พบว่า คนส่วนใหญ่สารภาพว่าตัวเองมีพฤติกรรมฟับ ขณะที่ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจรายหนึ่งระบุว่า เพื่อนของเขาเกือบถูกรถชน เนื่องจากเพลินกับการฟับระหว่างการข้ามถนน

71% ของผู้ถูกสำรวจเคยฟับ 90% ของผู้ถูกสำรวจยอมรับว่าฟับเพราะความเบื่อหน่าย หรือเพราะมีเรื่องสำคัญทำให้ต้องใช้โทรศัพท์ ในขณะที่ 96% ล้วนมีประสบการณ์เป็นผู้ถูกฟับ โดยกว่า 80% รู้สึกหงุดหงิด โมโห และรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความสนใจ

ส่วนคำถามที่ว่าสถานการณ์ใดไม่เหมาะสมที่สุดที่จะฟับ กว่า 80% เลือกให้การสนทนาแบบตัวต่อตัวเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าฟับมากที่สุด ส่วนระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือบีอาร์ที รองลงมาคือบาร์ คือสถานการณ์ที่ยอมรับการฟับได้มากที่สุด ทว่า 9% ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า ไม่มีสถานการณ์ใดที่การฟับถือเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ และมากถึง 84.31% ที่ต่อต้านการฟับ

 

แหล่งข่าวจาก posttoday…